===Not Click=== ===Not Click===

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก เป็นพระเนื้อดินที่ได้รับความนิยมสูงสุด และได้ถูกบรรจุไว้ในชุดพระเบญจภาคี เฉพาะพิมพ์ใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 แบบ

1. พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก
2. พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก หรือซุ้มกอดำ

วันนี้ผู้เขียนจะชี้แนะหลักการดูซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนกก่อน ส่วนซุ้มกอดำจะชี้แนะภายหลัง ถ้าพูดถึงพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก ก็ควรนึกถึง กรุหลัก ๆ 3 กรุก็พอ ก็คือ กรุบรมธาตุ, กรุวัดพิกุล และกรุฤๅษี เพราะ 3 กรุนี้ มีพุทธลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่ลายกนกและใบหน้าเล็กน้อย ส่วนผู้เขียนขอเลือกซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก กรุฤๅษี "องค์บุญปลื้ม" ของผู้เขียนเองมาชี้แนะหลักการดูก่อน เพราะซุ้มกอพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ค่อนข้างสวย สมบูรณ์ มีหน้ามีตาจัดเป็น พระสวยแชมป์องค์หนึ่งของวงการ และเป็นแม่พิมพ์เดียวกันกับ "องค์เจ้าเงาะ" พระแชมป์องค์ดังในอดีต ซึ่งเป็นกรุฤๅษีเหมือนกัน

หลักการพิจารณาตำหนิพิมพ์
ซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก กรุฤๅษี (องค์บุญปลื้ม)


จุดสำคัญที่ควรสังเกตด้านหน้า

1. เส้นขอบซุ้มทางขวามือพระส่วนใหญ่จะอ้วนหนากว่าทางซ้ายมือพระ และมุมช่วงโค้งทางด้านขวามือพระจะห่อ ๆ ส่วนด้านซ้ายจะเรียบ ๆ ขอบจะบาง

2. กนกข้างซ้ายให้สังเกต ช่างจะแกะแม่พิมพ์ตัวกนกจะสั้นและอ้วน และกนกจะอยู่ชิดเส้นประภามลฑล ส่วนด้านขวาจะแกะแม่พิมพ์ตัวกนกผอมและยาว และแกะกนกห่างเส้น ประภามลฑล

3. เส้นประภามลฑลซีกขวามือพระ ช่างจะแกะแม่พิมพ์ลึกกว่าซีกซ้ายมือพระ

4. หางตาขวาพระช่างจะแกะแม่พิมพ์ทะลุเกือบถึงพื้น ส่วนทางด้านซ้ายแกะธรรมดา

5. ตาข้างซ้ายพระถ้าเป็นกรุฤๅษีจะมีเปลือกตาชัดเจน ส่วนเปลือกตาข้างขวาพระจะติด ลาง ๆ หรือไม่ติดเลย

6. ถ้าเป็นแม่พิมพ์กรุฤๅษีจะเห็นพญานาคคาบแก้วได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นกรุบรมธาตุหรือ กรุวัดพิกุล จะแกะแม่พิมพ์แค่อ้าปากหรือแกะเป็นแผ่นบาง ๆ เท่านั้น

7. หัวไหล่ขวาพระจะสูงกว่าหัวไหล่ข้างซ้ายพระเสมอ

8. แขนขวาพระจากหัวไหล่ถึงข้อศอกจะแลดูยาวกว่าข้างซ้ายพระ

9. ส่วนแขนซ้ายพระช่วงข้อศอกถึงปลายมือจะแลดูยาวกว่าข้างขวาพระ

10. กำไลข้อเท้าข้างบนและข้างล่างจะไม่ตรงกัน จะเยื้องกันเล็กน้อย

11. บัวเล็บช้างส่วนใหญ่หัวเหลี่ยมหักมุม ส่วนตัวตรงกลางด้านบนจะโค้ง (เฉพาะกรุฤๅษี) ส่วนกรุวัดพิกุล, กรุบรมธาตุ แกะหัวเหลี่ยม

12. ซอกแขนทั้งซ้ายและขวา ช่างจะแกะแม่พิมพ์ลึกมาก




จุดสำคัญที่ควรสังเกตด้านหลัง

1. ส่วนใหญ่จะเป็นลายกาบหมากกรณีพระสมบูรณ์จะเห็นได้อย่างชัดเจน ให้สังเกตเส้น มีทั้งเล็กและใหญ่สลับกันไป และลักษณะเส้นจะค่อนข้างกลม เพราะเกิดจากการหดตัว

2. พื้นผิวทั่วไปทั้งหน้าและหลังส่วนใหญ่จะมีราดำหรือรารักกระจายอยู่ทั่วไป ให้สังเกตดูจะมีสีเข้มและสีอ่อนสลับกันไป

3. ด้านข้างตัดขอบ จะตัดตามขอบโค้งตามยาว ขอบพระโดยลักษณะเฉือนตามขอบ ไม่ใช่ตัดบนลงล่าง ที่กล้ายืนยันว่าเฉือนตามขอบ ก็ให้สังเกตรอยครูดจะครูดไปตามแนวยาวของขอบ องค์พระ



เนื้อ พระกำแพงซุ้มกอ แบ่งออกได้ดังนี้

1. เนื้อดิน เป็นเนื้อหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีทั้งเนื้อแดง, เนื้อดำ, เนื้อเขียว, เนื้อผ่าน (คือมีมากกว่า 1 สีในองค์เดียวกัน) ในกรณีเนื้อสีเขียวบางตำราบอกว่าไม่มี แต่ผู้เขียนว่ามีแน่นอน ในเมื่อพระกำแพงลีลาเม็ดขนุนมีเนื้อสีเขียว พระกำแพงซุ้มกอทำไมจะมีเนื้อสีเขียวไม่ได้ ก็พระ ทั้งสองชนิดนี้อยู่กรุเดียวกัน ขึ้นพร้อม ๆ กัน สมควรเรียกว่า หายากสุด ๆ จะเหมาะสมกว่า ไม่ว่าจะเนื้อสีอะไร จะมีจุดแดง ๆ ในเนื้อ เรียกว่า "แร่ดอกมะขาม" เสมอ

2. เนื้อว่าน และเนื้อว่านหน้าทอง เป็นเนื้อที่หายากอีกเช่นกัน ส่วนว่านหน้าทอง ลักษณะด้านหน้าจะเป็นทองคำแผ่นบาง ๆ หุ้มเนื้อว่านไว้ ด้านหลังไม่ได้หุ้มทอง ปล่อยให้เห็นเนื้อว่านไว้ ถ้าอยากดูให้คลิกไปดูกำแพงเม็ดขนุนว่านหน้าทองของผู้เขียน ค่อนข้างสวยสมบูรณ์ ให้สังเกต ดูทองเก่า, การหุ้มทอง, เนื้อว่านด้านหลังว่าเป็นอย่างไร

3. เนื้อชินเงิน เนื้อนี้ก็มีน้อย มีทั้งพิมพ์ใหญ่, พิมพ์กลาง, พิมพ์เล็ก ส่วนใหญ่จะเป็นพระใช้คือจะสึก เพราะสมัยก่อนชาวบ้านจะนิยมพระเนื้อโลหะมากกว่าเนื้อดิน เพราะเนื้อโลหะจะทนทานเก็บรักษาง่ายกว่า จึงนิยมนำพระโลหะมาถักลวดห้อยคอ


พุทธคุณ

เด่นมากทางโภคทรัพย์ ดั่งตำนานกล่าวไว้ว่า "มีกูไม่มีจน"
ผู้ที่ใช้พระซุ้มกอต่างประสบโชคลาภมากมาย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


Cr. ผู้เขียน : ช้าง-วัดห้วย